โดย: รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ
สมองมนุษย์ถือเป็นอวัยวะที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ นอกจากนั้นสมองยังเป็นอวัยวะสำคัญที่ควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการเติบโตของสมองลูกตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อให้สมองของลูกพัฒนาและมีวิวัฒนาการตามลำดับอย่างสมบูรณ์แข็งแรงเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ค่ะ
38 สัปดาห์ของการเติบโต
ช่วงแรก ... สมองเริ่มปรากฏ
ตัวอ่อน 4 สัปดาห์ : สมองของลูกในครรภ์เริ่มปรากฎ เป็นระยะ 150 เซลล์ ซึ่งจะแบ่งเป็นเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ชั้นแรกจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนของระบบประสาท ผิวหนัง และผม
ช่วง 5 - 9 สัปดาห์ : จะมีการเติบโตของสมองและระบบประสาทในไขสันหลังอย่างรวดเร็วจากท่อประสาท (neural tube) และจะเริ่มมีการสร้างเนื้อเยื่อของ ตา หู และลิ้น ซึ่งเป็นส่วนโสตรับรู้ในการกระตุ้นและพัฒนาสมองในเวลาต่อมาเกิดขึ้นด้วย
ช่วงที่ 2 ... เติบโตและพัฒนาผ่านโสตสัมผัส
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของคุณแม่จะขอเรียบเรียงการเจริญเติบโตและการพัฒนาอวัยวะที่เกี่ยวข้องคือโสตสัมผัสต่างๆ ในการป้อนข้อมูลการเรียนรู้เข้าสู่สมอง ตามอายุครรภ์นับจาก 10 สัปดาห์ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นระยะทารก (fetus) แล้ว
10 สัปดาห์ : สมองแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็วมาก ศีรษะลูกจึงจะมีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของลำตัว จะเริ่มมีเปลือกตาคลุมบริเวณตาสองข้าง
11 -14 สัปดาห์ : สมองสั่งการให้ลูกดิ้นและเตะไปรอบๆ ได้ แต่ยังแรงไม่พอที่คุณแม่จะรับรู้ได้
15 สัปดาห์ : จะเริ่มมีกระดูก 3 ชิ้นในหูชั้นกลางของลูก แต่ยังไม่เชื่อมโยงกับศูนย์การได้ยินในสมอง
16 – 18 สัปดาห์ : ลูกจะเริ่มดูด กลืน สะอึก และกะพริบตาได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์
19 สัปดาห์ : เส้นประสาทจะเริ่มมีไขมันที่เรียกว่า myelin หุ้มลูกเริ่มจัดระเบียบการตื่นและการนอน
20 สัปดาห์ : ประสาทรับรู้เกี่ยวกับการรู้รส ได้กลิ่น ได้ยิน การเห็น สัมผัส จะเริ่มมีการพัฒนาในสมองส่วนที่รับผิดชอบในลักษณะซับซ้อนขึ้น
21-22 สัปดาห์ : ในสมองชั้นกลาง จะมีโรงงานผลิตเซลล์สมองที่เร่งการผลิตอย่างรวดเร็วถึง 25,000 เซลล์ต่อนาทีและจะสลายไปไม่นานหลังคลอด แต่ยังทิ้งโปรแกรมการผลิตต่อเนื่องไปจนกระทั่งลูกอายุ 5 ขวบ ช่วงนี้ลูกจะเริ่มจำเสียงคุณพ่อซึ่งเป็นเสียงทุ้มได้ก่อนเสียงแหลมของคุณแม่ น่าอิจฉาจริงๆ เลยนะคะ
23 สัปดาห์ : ลูกจะรู้สึกขมได้ตามรสอาหารขมของคุณแม่ และกลืนเก่งขึ้นค่ะ
24-29 สัปดาห์ : กระดูกสันหลังจะแข็งแกร่งขึ้น ประกอบด้วย 150 ข้อ 33 วง
แหวนยึดข้อ และ 1,000 เส้นเอ็นที่มาช่วยยึดข้อให้ติดกัน จะเริ่มจับคลื่นสมองของลูกได้
ช่วงนี้คุณแม่สามารถพูดคุย เล่านิทานเปิดเพลงที่มีท่วงทำนองช้าๆ ขึ้นลง และจอตาของลูกจะสมบูรณ์ หนีแสงไฟได้ แยกความสว่างและความมืดได้ค่ะ เรียกว่าลูกจะเริ่มจดจำเสียงของคุณพ่อและคุณแม่ได้ค่ะ
30-33 สัปดาห์ : สมองจะเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้ง มีจำนวนร้อยพันล้านเซลล์ โสตการรับรู้ทั้งหมดจะสมบูรณ์เต็มที่ ลูกสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอกได้ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เมื่อได้ยินเสียงดนตรีที่ชอบ ดิ้นแรงเมื่อหิวหรือได้ยินเสียงดัง มีการเชื่อมโยงของเส้นใยระหว่างเซลล์สมองมากขึ้นเพื่อเพิ่มเครือข่ายของสมองในการเรียนรู้ และจะมีการประสานงานระหว่างการดูด การกลืนกับจังหวะการหายใจมากขึ้น
34-38 สัปดาห์ : ลูกจะลืมตาตอนตื่น หลับตาตอนหลับ จัดเวลาการนอนให้ลงตัวนะคะ ส่วนแม่ที่ทำงานกลางคืนก็จะมีผลทำให้การจัดเวลาการนอนบกพร่องได้ค่ะ
ลูกจะเริ่มกำหมัดชกได้ ดิ้นหนี หรือเบือนหน้า หนีเสียงหรือแสงได้ทันที และสามารถจัดคิวกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ชัดเจนขึ้น คุณแม่จะรับรู้ได้ว่าลูกจะมีการตอบโต้ต่อสิ่งเร้าภายนอกด้วยการดิ้น วิธีที่คาดเดาจากลูกได้คือลูกจะสะอึกแรงและนานขึ้น อาจนานเป็น 10 นาทีก็ได้ค่ะ
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า สมองของลูกมีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อจะได้ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของทุกอวัยวะในร่างกายให้ลงตัวและสมบูรณ์ และในขณะที่ทุกอวัยวะมีการเติบโตต่อเนื่องหลังคลอดก็ยังต้องอาศัยความสมบูรณ์ของสมองในการควบคุมด้วย ทารกที่มีความเสียหายของสมอง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม นอกจากจะมีสติปัญญาด้อยแล้ว ก็มักจะมีความบกพร่องในระบบอื่นๆ ด้วย เช่น แขนขาเกร็ง การทรงตัวเสียหาย และอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามีความเสียหายในส่วนไหนของสมองที่จะเป็นส่วนที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะนั้นๆ ค่ะ
ดังนั้นการดูแลในระหว่างการตั้งครรภ์ ในเรื่องของอาหาร ความเป็นอยู่ หลีกเลี่ยงมลภาวะ
ที่เป็นพิษ และการดูแลในเรื่องของอารมณ์ให้เบิกบาน เป็นคุณแม่ที่มีความสุข รวมถึงการกระตุ้นหรือสื่อสารกับลูกอย่างเหมาะสมพอควรก็จะช่วยให้ลูกมีสมองที่ประกอบด้วย IQ และ EQ ที่สมดุล ช่วยให้ลูกมีศักยภาพในการเรียนรู้ตามวัยได้เต็มที่และอย่างมีความสุข ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและปฏิบัติให้กับลูกได้ตามควรนะคะ
3 ส่วนสำคัญของสมอง
เมื่อทราบว่าสมองมีขั้นตอนในการพัฒนาอย่างไรแล้ว เมื่อสมองพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบแล้วจะมีส่วนประกอบและหน้าที่ดังนี้ค่ะ
1.สมองส่วนหลังหรือก้านสมอง (brain stem)
จะมีการเชื่อมต่อกับระบบประสาทในกระดูกสันหลัง (spinal cord) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะที่เป็นพื้นฐานของการมีชีวิต เช่น การตื่นตัวเพื่อหนีภัย การทรงตัว การหายใจ เป็นต้น และเป็นส่วนป้อนข้อมูลไปกลับระหว่างสมองส่วนเหนือขึ้นไปกับระบบประสาทที่แตกแขนงออกไปจากไขสันหลังที่ถูกปกป้องอยู่ภายในกระดูกสันหลัง เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ประสานงานกันในการทำงานตามคำสั่งของสมองส่วนบนไปได้อย่างราบรื่นและคล่องตัวได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาหลับหรือเวลาตื่น
2. สมองส่วนกลาง ( Mid brain )
เป็นสมองส่วนที่มีความซับซ้อนขึ้น เพื่อตรวจสอบและปรับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั้งร่างกายให้ทำงานได้อย่างลงตัว ไม่ผิดพลาดรวมถึงการป้อนข้อมูลไปกลับระหว่างสมองส่วนหน้า เพื่อการจดจำและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าอัพเดทตลอดเวลาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่ามือโปรหรือความเชี่ยวชาญเกิดขึ้นเมื่อได้ทำบ่อยๆ มีรายงานว่า ยังมีพื้นที่หลายส่วนในสมองส่วนนี้ที่ยังไม่ทราบหน้าที่ชัดเจน ในขณะที่ส่วนใหญ่จะสามารถระบุหน้าที่ในการทำงานได้แล้ว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น เส้นเลือดอุดตัน ก็จะทราบว่าจะเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะอะไรที่ถูกควบคุมด้วยสมองส่วนนั้น แล้วจะสามารถอธิบายอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ
3. สมองส่วนหน้า (Fore brain)
มีโครงสร้างที่ซับซ้อนมากที่สุด และมีศักยภาพในการพัฒนาแบบไร้ขอบเขต มนุษย์จึงมีสมองส่วนหน้าที่ใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาสัตว์อื่นๆ ที่มีกระดูกสันหลัง และมีรายงานว่า ปลาโลมาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับคน ก็มีขนาดสมองส่วนหน้าใกล้เคียงกับมนุษย์ มนุษย์จึงสามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่ก้าวไกลมาก ล้ำหน้า และไม่น่าเชื่อว่าบางอย่างจะมาจากสมองของมนุษย์ได้ แต่หากใช้สมองผิดทางมนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคมที่ทำลายล้างกันได้น่ากลัว และรุนแรงที่สุดได้เช่นกัน รวมถึงการทำลายได้แม้แต่ชีวิตของตัวเอง ซึ่งสัตว์อื่นๆ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เลยนะคะ
นอกจากนี้ยังมีสมองชุดพิเศษอีก 1 ชุด เรียกว่า cranial nerves มีทั้งหมด 12 เส้น เรียงรายอยู่ใต้สมองส่วนกลางและส่วนหน้า เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของการรับรู้ และการตอบโต้กลับของโสตต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเพื่อการจดจำและเรียนรู้แบบต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งตลอดเวลาเช่นกัน สมองจึงเปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อที่ในร่องสมองเป็นที่เก็บและพัฒนาข้อมูลแบบต่อยอดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมีความเร็วสูงแบบ super high speed ที่ไม่มีอะไรมาเทียบเท่าได้
ด้วยเหตุนี้เองสมองจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เปรียบเป็นหัวหน้าใหญ่คอยสั่งการให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข แล้วการจะทำให้สมองพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดคนสำคัญไม่ใช่ใครอื่น ...คุณแม่นั้นเองค่ะ
....................................................................
จาก: |
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น